แผนพัฒนาเยาวชนของโครงการเยาวชนอีซีอี. แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

          จากประสบการณ์การพัฒนาเยาวชนของมูลนิธิเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมไทย-สากล มีทั้งการออกสำรวจและให้ทุนเด็กยากจนในโครงการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา (กสศ.) การจัด English & Fun Camp และการจัด UCE / ECE มาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงวันนี้ก็นับเวลาย่างเข้าปีที่ 30 เราได้เห็นพัฒนาการของเด็กไทยมาโดยตลอด และมีรายละเอียดมากมาย คงพอสรุปได้สั้นๆว่า การศึกษาในระบบของไทยน่าจะมีปัญหา จึงทำให้พ่อแม่ของเด็กแต่ละคนต้องหาทางพัฒนาให้การศึกษาบุตรหลานด้วยตนเองอย่างจริงจัง

ไม่ว่าปัญหาของการศึกษาไทยจะมีรายละเอียดอย่างไรแต่เราพอสรุปได้ว่า
ทุกวันนี้เด็กไทยอ่อนคุณสมบัติ 4 ด้าน คือ
1

ทำอะไรไม่เป็น ไม่อดทน และไม่รู้จักเอาตัวรอด (E.Q.)

2

ขาดความคิดสร้างสรรค์

3

พัฒนาการทางภาษาแย่ลงโดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาไทย

4

ไม่เข้าใจโลกตามความเป็นจริง

          มูลนิธิฯ และโครงการเยาวชนอีซีอี. แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เป็นเพียงองค์กรเล็กๆที่ตั้งใจที่จะมีส่วนในการพัฒนาเด็กไทยไปตามอุดมการณ์ของเราซึ่งตรงกับการพัฒนาเยาวชนใน 4 ด้านข้างต้น ในวันนี้เราเห็นว่ามีความจำเป็นและจะต้องมีส่วนช่วยเหลือในการพัฒนาเด็กไทยอย่างเป็นระบบมากกว่าแต่ก่อน เพื่อแก้ปัญหาความอ่อนด้อยของเด็กไทยดังกล่าว

จึงสร้างหลักสูตรนอกระบบเป็นบันได 3 ขั้น โดยเน้นพัฒนาการของเด็กไทยให้เหมาะสมตามวัย ดังนี้

ขั้นที่ 1 ช่วงอายุระหว่าง 6 - 15 ปี

  1. ปูพื้นฐานภาษาอังกฤษและฝึกการใช้ภาษาไทยให้คล่องๆ
  2. ปูพื้นฐานความกล้าแสดงออก
  3. ปูพื้นฐานการพัฒนา E.Q.
  4. ปูพื้นฐานการคิดสร้างสรรค์ รู้จักคิดในสิ่งใหม่ๆ และการคิดนอกกรอบ

ขั้นที่ 2 ช่วงอายุระหว่าง 7 - 17 ปี

  1. ยกระดับภาษาอังกฤษในขั้นปูพื้นฐานให้มีศักยภาพยิ่งขึ้นโดยการนำภาษาอังกฤษที่ร่ำเรียนมา ไปใช้พูดคุยกับชาวต่างชาติในสถานการณ์จริง
  2. ยกระดับความกล้าแสดงออกในภาคปฏิบัติยิ่งขึ้น
  3. ยกระดับการเข้าใจสิ่งแวดล้อมจริงรอบตัวตามความเป็นจริงมากขึ้น
  4. ทดลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จากความคิดตนเอง และเรียนรู้ถูกผิดจากสิ่งทึ่ตนเองทำ

ขั้นที่ 3 ช่วงอายุระหว่าง 10 - 22 ปี

           เมื่อเยาวชนผ่านการฝึกฝนตามแผนขั้นที่ 1-2 มาแล้ว ถือได้ว่า หัวเชื้อด้านภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ความกล้าแสดงออก การรู้จักสภาพสิ่งตามความเป็นจริง ตลอดจนการรู้จักเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งพร้อมที่จะต่อยอดความคิดสร้างสรรค์จากสิ่งใหม่ๆ เหล่านั้น ขึ้นเป็นความคิดนอกกรอบได้มีอยู่ในเยาวชนแล้ว ขั้นต่อไปจึงเป็นการท้าทาย (Challenge) หัวเชื้อเหล่านั้นให้เติบโตขึ้นจากประสบการณ์จริงที่เด็กจะต้องเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างประเทศที่ห่างไกลประเทศไทย ห่างไกลครอบครัว (พ่อแม่พี่น้อง) จะต้องดำรงชีวิตด้วยตนเองในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ในสังคมที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก โดยมีการให้ความรู้ตัวอย่างประสบการณ์ และสิ่งที่จะพบ ตลอดจนปัญหาที่จะเจอและทางแก้ไขโดยเจ้าหน้าที่ ผู้มีประสบการณ์แก่เยาวชนก่อนไป ซึ่งสิ่งที่เยาวชนจะประสบพบในต่างแดน เยาวชนจะต้องนำเอาพื้นฐานภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ความกล้าแสดงออก การเรียนรู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง และการคิดนอกกรอบมาใช้ เพื่อเอาตัวให้รอดและพัฒนาตนเองจากสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นให้ได้

           เยาวชนจะถูกกำหนดให้มีหน้าที่ในการนำวัฒนธรรมไทยไปแสดงยังต่างประเทศ โดยการคิดเอง ทำเอง รับผิดชอบเอง ร่วมกับเพื่อนจากทั่วประเทศ กลุ่มละ 15-20 คน โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาที่สามารถให้ความช่วยเหลือเยาวชนด้านภาษาอังกฤษและประสบการณ์ชีวิต เดินทางไปอยู่ด้วยตลอดโครงการ ซึ่งในแผนขั้นนี้จำเป็นต้องเรียนรู้ในหลายๆ ประเทศ เพื่อความชำนาญของเยาวชน และการปรับตัวเรียนรู้ในสังคมสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดยเรากำหนดเป้าหมายไว้ 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอังกฤษ นิวซีแลนด์ แคนาดา และออสเตรเลีย โดยมีวัตถุประสงค์และระยะเวลาแตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับความตั้งใจและความสนใจของเยาวชนแต่ละคน แน่นอนว่าในขั้นนี้จะเป็นการพัฒนาภาษาอังกฤษในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยมีสถานการณ์ฝึกฝนความกล้าแสดงออกอย่างจริงจังในระดับระหว่างประเทศ การมีสังคมเพื่อนระดับประเทศและระดับนานาชาติ ย่อมเป็นการสร้างโอกาสที่กว้างขวางขึ้น และการได้พบเจอสิ่งใหม่ๆ ในประเทศอื่น ย่อมเป็นการกระตุ้นพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนไปในตัว โดยที่การทำกิจกรรมเรายังเน้นเรื่องความปลอดภัยของเยาวชนเป็นหลัก เช่นเดียวกับ 2 โครงการแรก

           ในขั้นนี้เราจัดในชื่อ โครงการเยาวชนอีซีอี. แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ซึ่งจะมีการเดินทางไปทำกิจกรรมในต่างประเทศปีละ 2 ครั้ง ช่วงปิดเทอมกลางเดือนตุลาคม และปิดเทอมฤดูร้อน เดือนเมษายนของทุกปี

กิจกรรมทั้ง 3 ขั้นมีดังนี้

ขั้นที่ 1

โครงการ English & Fun Camp Level 1

ขั้นที่ 2

โครงการ English & Fun Camp Level 2

ขั้นที่ 3

โครงการเยาวชนอีซีอี. แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม